จากอุดมคติ สู่ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต

ความประสงค์การสร้างเมืองโบราณ โดยคุณเล็ก และคุณประไพ วิริยะพันธุ์

เมืองโบราณคือเมืองในอดีต อดีตคือช่วงเวลาที่ผ่านไป ช่วงเวลาที่ผ่านไปย่อมต้องมีช่วงเวลาที่ติดตามมา ความแตกต่างอยู่ที่ถึงก่อนถึงหลังเท่านั้น เช่นเดียวกับพระอาทิตย์ พระจันทร์ต่างผลัดกันให้แสงสว่าง เกิดวัน เดือน ปี ปรากฏการณ์ทั้งหลายย่อมไม่มีจุดเริ่มต้นให้เห็นได้ เป็นวัฏฏะที่หมุนเวียน เหตุวันนี้ย่อมสืบเนื่องมาจากเมื่อวานนี้ การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ย่อมมาจากวันนี้ ฉะนั้นเรื่องของอดีตคนปัจจุบันจำเป็นจะต้องรู้ หากเราไม่รู้จักอดีตก็เหมือนเดินเรือในท้องทะเลโดยปราศจากเข็มทิศและหางเสือ ผลที่จะเกิดขึ้นกับเรือลำนั้นเป็นที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง

อนึ่ง ความเสียหายนั้นเนื่องมาจากความไม่รู้ แต่ไม่รู้จริงเสียหายมากกว่า ยิ่งไม่รู้จริงแล้วทำเป็นรู้ผลที่สุดคือหายนะ โบราณและปัจจุบัน ความสำเร็จกับความล้มเหลวตกอยู่ในห้วงแห่งสาเหตุนี้มากต่อมาก การที่จะรู้จริงนั้นต้องมาจากความยากลำบาก จะต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาประการ โลกปัจจุบันนี้แคบลงทุกวัน เรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในมุมเล็กๆ มุมหนึ่งของโลกสามารถกระทบกระเทือนถึงทุกแห่งในโลกได้ ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงหวั่นวิตกว่า ความเปลี่ยนแปลงของสังคมระบบใหม่เกิดขึ้น จากความบีบคั้นของสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ ประกอบกับปัจจุบันนี้ วัฒนธรรมประเพณีตะวันออกกับตะวันตกกำลังเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงและคงจะร้ายแรงยิ่งขึ้น ผู้ที่มีสติปัญญาหรือบัณฑิตทั้งหลายจะต้องเพ่งเล็งในกรณีนี้เป็นพิเศษ แม้แต่พวกที่ถือคัมภีร์ของตนเป็นสรณะนับเป็นศตวรรษมาแล้วก็ตาม ต้องละทิ้งทิฐิของตนหันมาพิจารณากับสิ่งที่เขาเคยคิดว่าเป็นปรปักษ์

ข้าพเจ้าเชื่อว่าศีลธรรมของพลโลกปัจจุบันนี้เสื่อมลง ในขณะเดียวกันข้าพเจ้าก็ไม่ปฏิเสธว่าวิทยาศาสตร์เจริญ มีคุณค่าที่ปรากฏแก่มวลมนุษย์ ไม่มียุคไหนเทียบเท่า แต่ชาวตะวันออกเราเชื่อว่าวิทยาศาสตร์สามารถให้ความรู้แก่มนุษย์ได้ แต่ไม่สามารถที่จะยกระดับจิตของมนุษย์ให้สูงขึ้นได้ มีแต่ทำให้ผู้คนนับถือลัทธิวัตถุนิยม มุ่งแต่ความสุขในทางโลก สิ่งต่างๆ ในจักรวาลนี้เกิดขึ้นด้วยความเหมาะสมของธรรมชาติและความสำเร็จของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะต้องขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เหมาะสมหนึ่ง จุดศูนย์กลางที่พอดีหนึ่ง เวลาที่ถูกต้องหนึ่ง

ตำแหน่งที่เหมาะสมนั้นหมายถึงตำแหน่งที่ต้องอยู่อย่างพอเหมาะพอดี จุดศูนย์กลางนั้นหมายถึงความเจริญอยู่ในกฎเกณฑ์ เวลาที่ถูกต้องนั้นหมายถึงสิ่งแวดล้อมที่ต้องการในขณะนั้น หากสวรรค์ต้องการให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดคงเหลืออยู่ ย่อมไม่ให้เจริญเกินขอบเขตของความเจริญ นี้คือบ่อเกิดของความสมดุลตามกฎแห่งธรรมชาติ ความเหมาะสมและดีงามของสิ่งใดๆ ไม่มีขอบเขตแห่งความเก่าแก่ พิสูจน์จากจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมที่วิจิตรงดงาม เป็นมรดกของมนุษยชาติที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้แก่เราเป็นเวลานานแสนนาน มีคุณค่าอย่างยิ่ง ที่ไม่ได้เสื่อมโทรมแม้แต่น้อย ศิลปะไม่มีลัทธิ ศาสนา และกาลเวลา ศิลปะเท่านั้นที่หล่อเลี้ยงจิตใจมนุษย์มาตราบเท่าทุกวันนี้ เหตุไฉนประเพณีวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้แก่เราจึงถูกทอดทิ้งบ้าง ทำลายบ้าง ทั้งๆที่วัฒนธรรมประเพณีนั้นเหมาะสมกับสังคมมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของเรา

โดยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงอยากให้มนุษย์ร่วมโลกรู้จักประเพณีและวัฒนธรรมของเรา เพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์ อย่างน้อยก็เป็นเครื่องเตือนใจของผู้ที่กำลังหลงทางในสังคมปัจจุบัน นี่คือจุดประสงค์ของข้าพเจ้าที่สร้าง "เมืองโบราณ" ขึ้น หวังเพื่อแก้ไขสิ่งเลวร้ายที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบัน แต่ปัญหายิ่งใหญ่จะสัมฤทธิ์ผลได้อย่างไร ใครจะเป็นผู้แก้ไขคำตอบของข้าพเจ้า คือไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ต้องทุกๆ คน ไม่ใช่เรื่องราวของเช้าเย็นวันหนึ่ง จะต้องเป็นเดือน เป็นปี เป็นศตวรรษ เสมือนที่โบราณกล่าวไว้ว่า หากจะสร้างภูเขาหนึ่งภูเขา ดินก้อนหนึ่งมีคุณค่าของดินก้อนหนึ่ง เปรียบเสมือนคนเดินทาง ก้าวหนึ่งย่อมมีคุณค่าของก้าวหนึ่ง ภูเขาที่สำเร็จต้องอาศัยคุณค่าของหินก้อนแรก ระยะทางที่เราเดินสำเร็จต้องอาศัยคุณค่าของก้าวแรก

หากคติของข้าพเจ้าไม่สอดคล้องกับคนที่ยึดถือว่าสังคมปัจจุบันนี้ถูกต้องและยึดถือไว้ปฏิบัติให้ก้าวหน้าต่อไป ข้าพเจ้าใคร่ขอวอนให้ท่านเหล่านั้นตั้งอยู่ในความเที่ยงธรรม จงพยายามหาสิ่งที่ดีจากสิ่งที่เราเกลียด หาสิ่งที่เลวร้ายจากสิ่งที่เรารัก เพื่อนำมาประกอบการวินิจฉัยกับวัฒนธรรมประเพณีของโบราณไทย ว่ามีคุณค่า สมเจตนารมณ์ของข้าพเจ้าหรือไม่

จะได้ผลประการใด แล้วแต่สวรรค์จะทรงโปรด

เล็ก วิริยะพันธุ์
อุดมคติ ชีวิตและงาน

คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2457 ในครอบครัวนักธุรกิจชาวจีน ย่านสำเพ็ง เมื่อสำเร็จการศึกษา ขั้นพื้นฐานบิดาได้ส่งไปศึกษาต่อ ขั้นอุดมศึกษาที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ช่วงนี้เองคุณเล็ก มีโอกาสเที่ยวศึกษาไปยังแหล่งศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ได้สั่งสมความรู้ด้านศิลปะ ศาสนาและปรัชญาต่างๆ ไว้เป็นอันมาก จนเมื่อบิดาป่วยหนัก จึงได้กลับมาสานต่อ ธุรกิจของครอบครัว และจากการติดต่อ ค้าขายทางธุรกิจ ได้ชักนำให้คุณเล็ก พบคุณประไพ วิริยะพานิช ผู้ซึ่งได้กลายมาเป็นคู่ชีวิต ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเป็นคู่คิด และแรงใจในการทำงาน จนคุณเล็กประสบความสำเร็จอย่างสูง ในแวดวงธุรกิจในระยะต่อมา

ส่วนจุดเริ่มต้นความสนใจ ด้านศิลปะของคุณเล็กนั้น เริ่มจากการอ่าน และสะสมของเก่าตั้งแต่ช่วงยังเป็นนักธุรกิจเต็มตัว ยิ่งอ่าน ยิ่งศึกษา ยิ่งเกิดความหวงแหนในศิลปะของชาติ กอปรกับความสนใจในเรื่องปรัชญาศิลป วิทยาการเป็นพื้นฐาน ทำให้คุณเล็กเกิดแรงผลักดันที่จะคิดทำเมืองโบราณขึ้นมา โดยความตั้งใจต้องการ ใช้ประโยชน์จากที่ดินขนาดใหญ่ สร้างเป็นขอบเขตตามรูปร่างแผนที่ประเทศไทย โดยจัดให้มีการจำลองโบราณสถาน สำคัญตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่ให้คนได้เที่ยว ได้เห็น ได้รู้จัก

เจตนารมณ์
ของคุณเล็ก วิริยะพันธุ์

“วัฒนธรรมไทยได้จำเริญอยู่คู่เคียงกับไทยโบราณมาอย่างสืบเนื่อง และหากสามารถรักษาไว้สืบไป ด้วยภูมิปัญญา และความเข้าใจอันถ่องแท้แล้ว ก็จะทำให้ปัจจุบัน และอนาคตของเรากอปรด้วยความหมายที่ทรงคุณค่ามิเสื่อมคลาย

คำถามมีอยู่ว่า เหตุใดวัฒนธรรมอันดีงามยิ่งใหญ่ไพศาลนี้ ถึงเสื่อมถอยลงได้เล่า?

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะคนทั้งหลายไม่ใส่ใจ พากันมองข้ามไปเสีย หรือว่าอาจยังมีเหตุอื่นที่สำคัญกว่า เคลือบแฝงอยู่อีก?

เมื่อได้ใช้ความคิดทบทวนไปมานานครั้งเข้าจึงเห็นว่า การที่วัฒนธรรมไทยต้องเสื่อมโทรมอับเฉา ลงทุกทีๆ นั้น ก็ด้วยเหตุที่มิได้มีผู้ใดนำเอายอดแห่งแก่นสาร ของวัฒนธรรมไทยไปเผยแพร่ในหมู่ชนอย่างกว้างขวาง และถูกต้องบริบูรณ์ด้วยการใช้รูปแบบง่ายๆ เข้าใจไม่ยาก โดยให้ประสานสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในปัจจุบันสมัย

ดังนั้นเมื่อคนทั้งหลายไม่มีโอกาสที่จะรับรู้ และเข้าใจวัฒนธรรมแห่งชาติของตนเองที่มีสืบต่อกันมานั้นแล้ว จะให้เขาเหล่านั้นชื่นชอบและยอมรับได้อย่างไร?

เมื่อเราตระหนักเช่นนี้ จึงเห็นว่าต้องลงมือทำเลย

ด้วยเหตุนี้ เราผู้ยึดถือวัฒนธรรมเป็นภารกิจ ย่อมต้องลงแรงส่งเสริมกิจกรรมด้านนี้อย่างสุดกำลัง อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมมีขอบเขตกว้างขวางยิ่งนัก กอปรด้วยปรัชญา ความคิด วรรณคดี ศิลปะ ประวัติศาสตร์ บุคคล และชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ มากมายหลายประการ ด้วยเหตุนี้ เราจำต้องมีปณิธานอันแน่วที่จะดำเนินภารกิจสืบต่อไปด้วยความเชื่อมั่น”

เรียนรู้จากอดีต

วิธีการสร้างเมืองโบราณของคุณเล็กนั้น มิใช่เป็นเพียงการไปจ้างเขาออกแบบและจ้างเขาทำ แต่เป็นการดำเนินงานที่คุณเล็กเข้าไปมีส่วนร่วม อย่างเต็มตัวทั้งในความคิดและการกระทำ เริ่มจากการศึกษาหาข้อมูลในรายละเอียด ทั้งส่วนรูปแบบและความหมายของสถานที่ ที่จะนำมาสร้างเป็นสัญลักษณ์ คุณเล็กและครอบครัวออกเดินทางสำรวจทั่วท้องถิ่นประเทศไทย ร่วมกับเหล่านักวิชาการ และที่ปรึกษา ในวันหยุดอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี มีการจดรายละเอียด บันทึก ถ่ายรูปสถานที่จริง เพื่อใช้อ้างอิงในการสร้างอย่างมีเป้าหมาย และเป็นระบบ คุณเล็กเป็นคนชนิดที่จะทำอะไรแล้วต้อง “รู้จริง” ทำให้ได้ลงไปคลุกคลีใน การศึกษาค้นคว้าอย่างเต็มตัว ยิ่งรู้มากขึ้น ความคิด และความเข้าใจในสถานที่ก็เพิ่มมากขึ้น เกิดความซาบซึ้งในคุณค่า และเมื่อได้ออกสำรวจมากขึ้น ได้เห็นความเสื่อมโทรมขาด การดูแลรักษาของโบราณสถานหลายแห่ง จึงได้มีความคิดในการผาติกรรมสถาปัตยกรรม และการเก็บสะสมวัตถุทางชาติพันธุ์ เพื่อจัดทำพิพิธภัณฑ์ภายในเมืองโบราณขึ้นมาเพิ่มขึ้นด้วย จากเป้าหมายในการทำงานที่มากขึ้นและลึกซึ้งขึ้นนี้เอง มิติของเมืองโบราณจึงเปลี่ยนจากสถานที่เที่ยว เพื่อการหย่อนใจ มาเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเพื่อการศึกษาอย่างเต็มตัว

สรรสร้างจากหลักฐาน

สถานที่สำคัญในเมืองโบราณ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้นิยามเมืองโบราณพ้นไปจากคำว่า เมืองจำลองอย่างเต็มตัว คือพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท สมัยอยุธยา เพราะเป็นสถานที่ที่มีหลักฐาน เหลือปรากฏน้อยมาก ปัจจุบันที่อยุธยาเหลือเพียงซากฐานอาคาร การสร้างให้สมบูรณ์ จึงมีความยากลำบาก และท้าทายในการศึกษาค้นคว้า เพราะต้องอาศัยจินตนาการในการสร้างสรรค์สูง และยังต้องค้นคว้าหาหลักฐานอ้างอิงอย่างละเอียด รอบคอบ ผ่านการหารือ ถกเถียง และการวิจัย คุณเล็ก วิริยะพันธ์ ได้ร่วมมือกับนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญในด้านรูปแบบ และเนื้อหาความหมายอย่างลุ่มลึก และได้คุมการออกแบบ และก่อสร้างด้วยตนเอง ที่สำคัญทั้งครอบครัวต่างก็มีส่วนร่วมในการสร้างปราสาทหลังนี้ ซึ่งต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงโปรดเกล้า ให้ใช้เป็นสถานที่รับรองการเสด็จเยือนประเทศไทย ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 ของอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2515

การสร้างสถานที่นี้ทำให้คุณเล็กได้สั่งสมพัฒนาการในการศึกษา จัดการ วิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียด และได้เข้าใจถึงองค์ประกอบ เทคนิคการสำรวจ และการก่อสร้างสถาปัตยกรรมไทยขนาดใหญ่

วิจิตรศิลปกรรม

การสร้างหอพระแก้วและพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นอีกจุดหนึ่งของพัฒนาการทางความคิด และทักษะเชิงศิลปกรรมของคุณเล็ก หอพระแก้วเป็นการสร้างโดยอิง รูปแบบอาคารที่ปรากฎ ในภาพสลัก บนตู้พระธรรมสมัยอยุธยาตอนปลายที่ตั้งแสดงไว้ ณ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งคุณเล็กให้ช่างชาวเซี่ยงไฮ้มาถ่ายแบบสร้างไว้ การสร้างอาคารนี้ขึ้นมาคือ การทำให้สิ่งที่อยู่ในภาพแกะสลัก กลายเป็นสิ่งก่อสร้างจริง ซึ่งเป็นการทำงานที่ยากทั้ง การออกแบบโครงสร้าง ซึ่งเป็นหอสูงแบบจีนและการตกแต่งภายใน โดยเฉพาะการให้สีที่จะทำให้ กลมกลืน คุณเล็กใช้เวลาคิดพิจารณาอยู่นานกว่างานจะสำเร็จลงตัว

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของกรุงรัตนโกสินทร์ ความยากใน การสร้างพระที่นั่งดุสิตฯ ที่แม้จะมีองค์จริงให้ศึกษาแต่ก็มีการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างภายในเรื่อยมา คุณเล็กเลือกที่จะสร้างพระที่นั่งในรูปแบบสมัยที่ยังมีสาหาน ส่วนการตกแต่งภายใน เช่น ภาพฝาผนัง และลวดลายโครงสร้างภายในของยอดปราสาทนั้น ต้องการแสดงให้เห็นถึงความวิจิตรพิสดาร ของศิลปะสถาปัตยกรรมไทย อย่างครบถ้วน เพื่อให้คนที่มาชมได้เรียนรู้ จึงต้องใช้เวลาใน การออกแบบ เลือกสรรรายละเอียดงานฝีมือเป็นเวลานาน จากผลงานทั้งสองแห่งนี้ คุณเล็กได้พัฒนาทักษะการประยุกต์ และทำความเข้าใจในองค์ประกอบสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมอย่างลึกซึ้ง ทั้งในด้านรายละเอียด รูปแบบและสี ทำให้ในระยะต่อมาคุณเล็กเข้าใจ และควบคุมศิลปกรรมโบราณได้อย่างเชี่ยวชาญ

สถาปัตย์รังสรรค์

พื้นที่ส่วนปลายนาในเมืองโบราณ เป็นสถานที่ส่วนล่าสุดในเมืองโบราณ ที่สร้างขึ้นในช่วงปลายชีวิตของคุณเล็ก เป็นบริเวณที่คุณเล็กได้ใช้จินตนาการของตนสร้างสถาปัตยกรรม และประติมากรรม ที่มีลักษณะผสมผสานกับหลักความเชื่อทางศาสนา และปรัชญาตะวันออก เช่น เขาพระสุเมรุ มณฑปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ศาลาพระอรหันต์เป็นต้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็น สิ่งเสริมสร้างทางการศึกษา ในทางวรรณคดีและศาสนา

งานรังสรรค์ในส่วนปลายนานี้ ทำให้คุณเล็กได้นำแก่นความคิดของสถาปัตยกรรม มาพัฒนาจนก้าวพ้นไปจากแบบแผนเดิม เป็นการประมวลความรู้ด้านศิลปะ และสถาปัตยกรรมทั้งหมดที่สั่งสมมา มาออกแบบสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม และประติมากรรมตามความคิดและจินตนาการของตนเองได้อย่างเต็มที่บนพื้นฐานของคติความเชื่อแบบโบราณ

รูปธรรมแห่งปรัชญา

ตลอดมาจนถึงช่วงปลายของชีวิต คุณเล็กยังคงต่อยอดแนวคิด สร้างสรรค์ผลงานต่อไปเรื่อย ๆ ภายในเมืองโบราณ รวมถึงปราสาทไม้ที่พัทยา และพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ตราบจนสิ้นอายุขัยเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2543

สืบสานจิตสำนึกไทย

ในทุกผลงานที่ผ่านมาทั้งหมด ได้แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจน ถึงพัฒนาการด้านแนวคิดของคุณเล็ก ที่ปรับเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา แต่จุดยืนของคุณเล็กที่ยืนหยัดแนวคิดหลัก ที่จะเชิดชูคุณค่าวัฒนธรรมตะวันออก ต้านกระแสตะวันตกนิยมเพื่อรักษาดุลยภาพทางสังคม และวัฒนธรรมจวบตลอดจนชีวิตของท่านนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ทุกวันนี้แม้จะสิ้นคุณเล็กไปแล้ว แต่เมืองโบราณยังคงตั้งอยู่ โดยยึดถือเจตนารมณ์เดิมของคุณเล็ก ที่ต้องการให้เมืองโบราณเป็น สถานที่เพื่อการศึกษา ของคนรุ่นต่อไปที่จะได้รู้จักตัวเอง เห็นคุณค่า และภูมิใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของบ้านเมืองสืบต่อไป

เริ่มต้นก่อสร้าง
8 ภาพ
รัชกาลที่ ๙ เสด็จเมืองโบราณ
8 ภาพ
ถวายการต้อนรับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
15 ภาพ

ห้องภาพความทรงจำ

ห้องภาพเมืองโบราณขอนำเสนอภาพถ่ายของเมืองโบราณจากอดีตสู่ปัจจุบัน รูปภาพแห่งความทรงจำที่เเสดงให้เห้นถึงความเพียรพยายามของเรา ในการปกปักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย
ให้อยู่กับลูกหลานไปอีกช้านาน

ติดต่อเรา

บริษัท เมืองโบราณ จำกัด
296/1 หมู่ 7 ถนนสุขุมวิท
ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 10280

ดูเส้นทางจากgoogle map